วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เทคโนโลยีสารสนเทศ ม.3

สรุป

        เทคโนโลยีสารสนเทศ
      เทคโนโลยี (technology) หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ การศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ก็เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของสิ่งต่างๆ และหาทางนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ เทคโนโลยีจึงเป็นคำที่มีความหมายกว้าง
      ลองจินตนาการว่าทรายที่เราเห็นอยู่บนพื้นดิน ตามชายหาด ชายทะเล เป็นสารประกอบของซิลิคอน ทรายเหล่านั้นมีราคาต่ำและเรามองข้ามไป ครั้นมีบางคนสามารถแยกสกัดสาร ซิลิคอนให้บริสุทธิ์ และเจือสารบางอย่างให้เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า สารกึ่งตัวนำ นำมาผลิตเป็นทรานซิสเตอร์ และไอซี (Integrated Circuit : IC) ไอซีนี้เป็นอุปกรณ์ที่รวมวงจรอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากไว้ด้วยกัน ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของคอมพิวเตอร์ สารซิลิคอนดังกล่าวเมื่อผ่านกรรมวิธีทางเทคโนโลยีแล้วจะมีราคาสูง สามารถนำมาขายได้เงินเป็นจำนวนมาก



   สารสนเทศ (information) หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนตั้งแต่เกิดมาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น เรียนรู้สภาพสังคมความเป็นอยู่ กฎเกณฑ์และวิชาการ เป็นต้น ลองจินตนาการดูว่าภายในสมองของเราเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เราคงตอบไม่ได้ แต่สามารถเรียกเอาข้อมูลมาใช้ได้ ข้อมูลที่เก็บไว้ในสมอง เป็นสิ่งที่สะสมกันมาเป็นเวลานาน ความรอบรู้ของแต่ละคนจึงขึ้นอยู่กับการเรียกใช้ข้อมูลนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าความรู้เกิดจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทุกวันนี้มีข้อมูลอยู่รอบตัวเรามาก ข้อมูลเหล่านี้มาจากสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การสื่อสารระหว่างบุคคล จึงมีผู้กล่าวว่ายุคนี้เป็นยุคของสารสนเทศ          
     เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) หมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้จัดการ สารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การรวบรวม การจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน การสื่อสารข้อมูล ฯลฯ เทคโนโลยีสารสนเทศยังรวมถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดระบบการให้บริการ การใช้ และการดูแลข้อมูลด้วย
     ข้อมูล (data) คือ ข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดของสิ่งที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้อาจอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ตัวเลข ข้อความ ภาพ เสียง และ วีดิทัศน์ ดังนั้นการเก็บข้อมูลจึงเป็นการเก็บรวบรวมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสิ่งที่เราสนใจนั่นเอง ข้อมูลจึงหมายถึงตัวแทนของข้อเท็จจริง หรือความเป็นไปของสิ่งที่เราสนใจ
       นักเรียนคงคุ้นเคยกับคำว่า ข้อมูล มานานแล้ว ในโรงเรียนมีข้อมูลอยู่มาก เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน ข้อมูลวิชาเรียน ข้อมูลเกี่ยวกับครูผู้สอน ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน ในการดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลมาประกอบในการพิจารณา

     สารสนเทศ (information) หมายถึง ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะได้ผ่านการประมวลผลด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานได้ และจะต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เช่น เมื่อต้องการสารสนเทศไปใช้ในการวางแผนการขาย สารสนเทศที่ต้องการก็ควรจะเป็นรายงานสรุปยอดการขายแต่ละเดือนในปีที่ผ่านมาที่เพียงพอแก่การตัดสินใจ     

ตัวอย่างการทำสารสนเทศเพื่อคัดเลือกนักเรียนที่จะได้รับรางวัลเรียนดี

       ระบบสารสนเทศ (Information System : IS) คือ การดำเนินงานกับข้อมูล ตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยบุคลากรอาจใช้ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เป็นเครื่องมือที่ให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่ต้องการ

       การจัดทำสารสนเทศจะทำให้เกิดความรอบรู้ที่จะใช้ช่วยในการตัดสินใจหรือวางแผนในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการบันทึกข้อมูลลงแบบฟอร์ม และเก็บข้อมูลเป็นแฟ้ม ซึ่งเก็บในแต่ละเดือน ภาค หรือปี และมีการสรุปข้อมูลเป็นสารสนเทศเพื่อสร้างรายงาน

       สารสนเทศสามารถแบ่งประเภทตามสภาพความต้องการที่จัดทำขึ้นได้ ดังนี้

       1) สารสนเทศที่ทำประจำ เป็นสารสนเทศที่จัดทำขึ้นเป็นประจำ และมีการดำเนินการโดยสม่ำเสมอ เช่น การทำรายงานสรุปจำนวนนักเรียนที่มาโรงเรียนในแต่ละวัน รายงานเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายประจำวันของโรงเรียน รายงานเกี่ยวกับผู้มาติดต่อหรือตรวจเยี่ยมโรงเรียนในแต่ละเดือน

        2) สารสนเทศที่ต้องทำตามกฎหมาย ตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศจะมีการให้ทำรายงานส่งเพื่อการต่างๆ เช่น งบดุลของบริษัทที่ต้องทำขึ้น เพื่อยื่นต่อทางราชการและใช้ในการเสียภาษี

        3) สารสนเทศที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ ในการดำเนินงานต่างๆ บางครั้งจำเป็นต้องทำรายงานข้อมูลมาช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ เช่น รัฐบาลต้องการสร้างเขื่อน อเนกประสงค์และจำเป็นต้องได้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนว่าจะสร้างหรือไม่ จึงต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปรายงานขึ้นเป็นการเฉพาะ แล้วนำสารสนเทศนั้นมาพิจารณาถึงผลดีและผลเสีย เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ การดำเนินงานเพื่อให้ได้สารสนเทศเหล่านี้จึงเป็นงานเฉพาะที่จัดทำเป็นครั้งคราวเพื่อโครงการหนึ่งๆ เท่านั้น

      ประเภทของข้อมูล
      ข้อมูลปฐมภูมิ หมายถึง ข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมหรือบันทึกจากแหล่ง ข้อมูลโดยตรง ซึ่งอาจจะได้จากการสอบถาม การสัมภาษณ์ การสำรวจ การจดบันทึก ตลอดจนการจัดหามาด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติต่างๆ ที่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลได้ เช่น เครื่องอ่านรหัสแท่ง เครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก ข้อมูลปฐมภูมิจึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ได้มาจากจุดกำเนิดของข้อมูลนั้นๆ
     ข้อมูลทุติยภูมิ หมายถึง ข้อมูลที่มีผู้อื่นรวบรวมไว้ให้แล้ว บางครั้งอาจจะมีการ
ประมวลผลเพื่อเป็นสารสนเทศ ผู้ใช้ข้อมูลไม่จำเป็นต้องไปสำรวจเอง ตัวอย่างจากข้อมูลสถิติต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐบาลทำไว้แล้ว เช่น สถิติจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด สถิติการส่งสินค้าออก สถิติการนำสินค้าเข้า ข้อมูลเหล่านี้มีการตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ใช้งานได้ หรือนำเอาไปประมวลผลต่อ

     วิธีการประมวลผล
     การประมวลผลแบบเชื่อมตรง (online processing) หมายถึง การทำงานในขณะที่ข้อมูลเดินทางไปบนสายสัญญาณเชื่อมต่อจากเครื่องปลายทาง (terminal) ไปยังฐานข้อมูลของเครื่องหลักที่ใช้ในการประมวลผล การประมวลผลแบบเชื่อมตรงจึงเป็นการประมวลผลโดยทันทีทันใด เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน การซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า การฝากถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม การประมวลผลแบบเชื่อมตรงจึงเป็นวิธีการที่ใช้กันมากวิธีหนึ่ง
      หน่วยความจำหลัก
     หน่วยความจำหลัก มีหน้าที่ ในการเก็บข้อมูลและโปรแกรมที่จะให้ซีพียูเรียกไปใช้งานได้ หน่วยความจำหลักเป็นอุปกรณ์ที่ทำมาจากไอซีเช่นเดียวกัน วงจรหน่วยความจำเก็บข้อมูลในรูปตัวเลขฐานสอง ซึ่งก็คือสัญญาณไฟฟ้า การเก็บข้อมูลจะเก็บรวมกันเป็นกลุ่ม เช่น บิต รวมกันเป็น ไบต์ เนื้อที่เก็บข้อมูลของหน่วยความจำหลัก 64 เมกะไบต์ สามารถเก็บข้อมูลหรือคำสั่งได้ 64 x 1024 x 1024 ไบต์เท่ากับ 67,108,864 ไบต์ หรือประมาณ 16,000 หน้ากระดาษ

     หน่วยรับเข้า
           จากรูปแบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ หน่วยรับเข้าเป็นอุปกรณ์ที่นำข้อมูลหรือโปรแกรมเข้าไปเก็บไว้ในหน่วยความจำหลัก และใช้ในการประมวลผล อุปกรณ์รับข้อมูลมีหลายประเภท เช่น แผงแป้นอักขระ เมาส์ แทร็กบอล ก้านควบคุม เครื่องกราดตรวจ เครื่องอ่านอักขระหมึกแม่เหล็ก จอสัมผัส



          หน่วยส่งออก
          หน่วยส่งออก  เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญและจำเป็นอย่างหนึ่ง หน่วยส่งออกที่ใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ เช่น จอภาพ เครื่องพิมพ์
                                  


         ซอฟต์แวร์ระบบ (system software) คือ ซอฟต์แวร์ที่บริษัทผู้ผลิตสร้างขึ้นมาเพื่อใช้จัดการกับระบบ หน้าที่การทำงานของซอฟต์แวร์ระบบคือดำเนินงานพื้นฐานต่างๆ ของระบบคอมพิวเตอร์ เช่น รับข้อมูลจากแผงแป้นอักขระแล้วแปลความหมายให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ นำข้อมูลไปแสดงผลบนจอภาพหรือนำออกไปยังเครื่องพิมพ์ จัดการข้อมูลในระบบแฟ้มข้อมูลบนหน่วยความจำรอง เมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ทันทีที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะทำงานตามโปรแกรมทันที โปรแกรมแรกที่สั่งคอมพิวเตอร์ทำงานนี้เป็นซอฟต์แวร์ระบบ ซอฟต์แวร์ระบบอาจเก็บไว้ในรอม หรือในแผ่นจานแม่เหล็ก หากไม่มีซอฟต์แวร์ระบบ คอมพิวเตอร์จะทำงานไม่ได้ ตัวอย่างของซอฟต์แวร์ระบบ เช่น วินโดว์ 98 วินโดว์เอ็กซ์พี ยูนิกซ์ และ ลีนุกซ์ เป็นต้น
          อินเทอร์เน็ต   คือ  เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกัน เป็นจำนวนมากครอบคลุมไปทั่วโลก โดยอาศัยโครงสร้างระบบสื่อสารโทรคมนาคม เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล มีการประยุกต์ใช้งานหลากหลายรูปแบบ อินเทอร์เน็ตเป็นทั้งเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายของเครือข่าย เพราะอินเทอร์เน็ตประกอบด้วย เครือข่ายย่อยเป็นจำนวนมากต่อเชื่อมเข้าด้วยกัน ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน จนเป็นสังคมเครือข่ายขนาดใหญ่ อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายสาธารณะ ที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ ทำให้การเข้าสู่เครือข่ายเป็นไปได้อย่างเสรี ภายใต้กฎเกณฑ์บางประการที่กำหนดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และวุ่นวายจากการเชื่อมต่อจากเครือข่ายทั่วโลก

เทคโนโลยีแบบสื่อประสม (multimedia technology) หมายถึงการใช้สื่อหลายแบบผสมกัน ซึ่งมีทั้งที่เป็นข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียงพูด เสียงดนตรี และวีดิทัศน์

         ปัญญาประดิษฐ์ หมายถึงการสร้างเครื่องจักรให้สามารถทำงานได้เหมือนคนที่ใช้ปัญญา หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการประดิษฐ์ปัญญาให้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถจำลองการทำงานต่างๆ เลียนแบบพฤติกรรมของคน โดยเน้นแนวคิดตามแบบสมองมนุษย์ที่มีการวางแผนการเรียนรู้ การให้เหตุผล การตัดสินใจ การแก้ปัญหา ตลอดจนการเลือกแนวทางดำเนินการในลักษณะคล้ายมนุษย์
          ทางด่วนข้อมูลสารสนเทศ ( information superhighway) เป็นชื่อที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อัลกอร์ (Al Gore) ใช้ในการประชาสัมพันธ์หาเสียงเลือกตั้ง ปี 2544 โดยเน้นว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องสร้างทางด่วนข้อมูลสารสนเทศให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว ทางด่วนในความหมายนี้คือเส้นทางที่ให้ข้อมูลข่าวสารวิ่งไปได้มากและรวดเร็ว สามารถรองรับการส่งสัญญาณข้อมูลข่าวสารทั้งสัญญาณโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรืองานประยุกต์อื่นๆ ได้มาก โดยมีความต้องการให้สถานีโทรทัศน์มากกว่า 500 แห่งและสถานีวิทยุมากกว่า 1,000 แห่ง ส่งกระจายสัญญาณไปในทางด่วนสารสนเทศ ระบบข้อมูลข่าวสารที่ส่งนี้เป็นแบบปฏิสัมพันธ์ (interactive) กล่าวคือสามารถโต้ตอบซึ่งกันและกันหรือมีส่วนร่วมได้
    แนวโน้มทางเทคโนโลยีในอนาคต
          เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์และความสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆมาก พัฒนาการหลายอย่างจึงเน้นการทำงานร่วมกับอินเทอร์เน็ต ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตยิ่งแพร่หลายเพิ่มขึ้น การประยุกต์ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตมีลักษณะเป็นการบริการบนเว็บ (web service) กล่าวคือ ผู้ใช้สามารถใช้บริการต่างๆ เช่น การซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต การดำเนินกิจกรรมร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เช่นหน่วยงานภาครัฐสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือ
ที่เรียกว่า e-government

         อินเทอร์เน็ตสามารถรองรับงานสื่อสารทางด้านดิจิทัล ทำให้พัฒนาการทางด้านระบบสื่อสารหลายอย่างเชื่อมเข้าสู่อินเทอร์เน็ตด้วย เช่น ระบบโทรศัพท์ ระบบการกระจายสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์ อีกทั้งมีอุปกรณ์ทางดิจิทัลให้เลือกใช้มากขึ้น เช่น กล้องถ่ายรูปดิจิทัล ระบบการอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ระบบเสียงเพลงแบบ mp3 จะเห็นว่าสื่อทางด้านดิจิทัลเหล่านี้ ได้รับการพัฒนาให้ใช้งานบนเครือข่ายมากยิ่งขึ้น

        การพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตเจริญก้าวหน้าไปทุกด้าน ตั้งแต่การพัฒนาซีพียูที่ทำงานดีและรับส่งข้อมูลได้เร็ว มีหน่วยเก็บข้อมูลมากขึ้น การประมวลผลและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับข้อมูลได้มากขึ้น กิจกรรมในอนาคตของมนุษย์จึงเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารทางด้านดิจิทัลอย่างมาก

      การขยายตัวของเทคโนโลยีสารสนเทศ          
          เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีความสามารถในการใช้งานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีราคาถูกลง ผลของการพัฒนานี้ทำให้มีการประยุกต์ใช้งานกันอย่างกว้างขวาง จนกล่าวได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
          ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในอดีตประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตทางด้านการเกษตรเป็นสินค้าหลัก ต่อมามีการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเป็นประเทศอุตสาหกรรม ปริมาณสัดส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างการผลิตของประเทศสหรัฐอเมริกาเน้นไปที่ธุรกิจบริการและการใช้สารสนเทศกันมาก 
         หากพิจารณาการใช้งานคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารทั่วไปของโลก ปัจจุบันมูลค่าของสินค้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งที่น่าสนใจคือประเทศที่พัฒนาแล้วสิบประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง ไอซแลนด์ สวีเดน แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์มากถึงกว่า 
90 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลก นอกจากนี้ประเทศในแถบเอเซียที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ก็มีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น